วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555


ท่องเชียงรายในสามวัน(2)
………………………….

            เราเดินผ่านถนนในหมู่บ้านเล็กๆ ไม่นานนักถึงบ้านถวัลย์ ดัชนี มหาศิลปินแห่งยุคสมัย มองตรงเข้าด้านใน เห็นป้ายชื่อเจ้าของเรือนตกแต่งสวยงาม ซ้ายมือแหงนมองเรือนหลังใหญ่คล้ายมหาวิหาร หรือ พระอุโบสถของวัดใดวันหนึ่ง สีดำทำด้วยไม้เป็นหลัก ปลายเรือนยอดแหลมสูงเสียดฟ้า เสาใหญ่ภายนอกตัวเรือนเรียงรายตามแนวยาวนับได้เกิน 10 เสา แนวกว้าง 4 เสา ขอบประตู บานประตูขนาดใหญ่ แกะสลักลวดลายไทยละเอียดยิบสวยงามเกินบรรยาย หลายคนเดินผ่านเข้าสู่ด้านในอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันได้สังเกตเห็นความสวยงามจากภายนอก

ภายในบรรจุงานศิลปะผสมผสานหลายแบบ เสาภายในเรือนแกะสลักลวดลายทุกต้น หลายคนแยกย้ายกันถ่ายรูปตามจุดต่างตามใจปรารถนา เดินชมหนังงูเหลือมขนาดใหญ่วางแผ่หลายแผ่นอยู่บนโต๊ะคาดว่าอาจารย์ถวัลย์มองเห็นความงามบนแผ่นหนังของงูคล้ายตกแต่งด้วยมือของศิลปินชั้นเยี่ยม จึงนำมาไว้ให้ชมกัน มีภาพวาดสวยงามเชิงนามธรรมจำนวนมากไว้ให้ขบคิดพิจารณาวางไว้ตามจุดต่างๆ รอบเรือน พบพระพุทธรูปหินอ่อนสีขาวนวลอ่อนช้อยสวยงามวิจิตรน่าชมตั้งกลางเรือน เปลือกหอยขนาดใหญ่ เขาสัตว์ เช่นเขาควายจัดแต่งเหมือนเก้าอี้ เหมือนเคยเห็นอาจารย์ถวัลย์ เคยนั่งถ่ายภาพบนโต๊ะแบบนี้ แต่ผมเองไม่กล้านั่งกลัวบารมีอาจารย์ และกลัวหักพัง

กว่าจะผ่านเรือนโอฬารและศิลปะอันหลากหลายออกมาได้ เราใช้เวลายาวนานเป็นพิเศษ มองจากด้านหลังเรือนใหญ่หลังนี้เห็นงานศิลปะอื่นอีกจำนวนมาก บนเนื้อที่คำนวณเคร่าๆ ราว 7 ไร่ เป็นการคำนวณเอาตามสายตานะครับ ส่วนใหญ่เป็นสีดำ แต่แอบเห็นศิลปกรรมขนาดเล็กอยู่บ้างเหมือนกันที่เป็นสีขาว

ด้านขวาของเรือนหลังนี้มีเรือนไม้ขนาดย่อม แต่แปลกตาที่ต้นเสาแต่ละต้นใหญ่เกินความจำเป็น อาจเป็นความนิยมของชาวเหนือที่มักสร้างเรือนด้วยเสาไม้ขนาดใหญ่แสดงฐานะร่ำรวยมั่นคง นับตามแนวยาวได้ราว 6 เสา เป็นที่รวบรวมของใช้สมัยเก่า มองเห็นหัวควาย เรือยาว กลองหนังขนาดใหญ่ ลำรางคล้ายเรือ แกะจากไม้ทั้งต้น ตัดหัวตัดท้าย ไม่รู้ว่าเป็นเรือตามที่คิดหรือไม่


เดินชมเรือนรับรองบริวารต่อมาเห็นเรือนยอดแหลมอื่นๆ อีกหลายแห่ง แต่ว่าเรือนเหล่านี้เกือบทุกหลังมองไม่เห็นคนพักอาศัยอยู่บนเรือน นอกจากเรือนด้านในสุดของพื้นที่ พบคนพักอาศัยอยู่บ้าง สอบถามถึงอาจารย์ถวัลย์ว่า ท่านอยู่บ้านหรือไม่ หญิงวัยกลางคนตอบว่า “อยู่ อาจารย์พักผ่อน นัดไว้หรือเปล่าค่ะ” “เปล่าครับ” รีบตอบเพราะความเกรงใจ เนื่องจากพอรู้บ้างว่า อาจารย์ เป็นผู้มีนิสัยรักสงบชอบเก็บตัวอยู่เงียบๆ มากกว่าการสนทนากับชนทั่วไป

พบฝรั่งสองคนสามีภรรยาเดินชมอยู่จึงถือโอกาสฝึกภาษาอังกฤษด้วยการทักทายชวนสนทนา ได้ข้อมูลว่าสองคนเดินทางมาจากประเทศยูเครน ภรรยาชอบศิลปะในด้านการวาดรูป  ส่วนสามีทำงานด้านคอมพิวเตอร์ ภรรยายกย่องชมเชยงานของอาจารย์ถวัลย์ว่าเป็นยอดของศิลปะ แถมฝากให้ช่วยบอกเจ้าของด้วย ผมได้แต่รับคำแบบเลี่ยงๆ ว่า “จะบอกให้ครับ ถ้าได้พบนะ” เธอยิ้มด้วยความยินดี

เดินกลับออกมาทางด้านขวาของเรือนศิลป์หลังใหญ่ พบเพื่อนพ้องเกือบทั้งหมดมานั่งรวมกันพักผ่อน รอเดินทางกลับพร้อมกัน ตอนเที่ยวกลับมัคคุเทสก์เดินนำกลับทางลัด ทำหลายคนพึงพอใจ เพราะไม่ต้องเดินไกลจนเกินไป ขึ้นรถบัสได้ต่างคนต่างเอนหลังพิงพนังเบาะหลับตาลงพักผ่อนแก่เหนื่อย

ถึงที่พักหลายคนถือโอกาสนอนชั่วครูรอเวลารับประทานอาหารค่ำ ถึงเวลานัดหมายเราพร้อมกันที่ล็อบบี้เพื่อเดินทางสู่ร้านอาหาร “คุ้มสบันงา” เป็นร้านอาหารบรรยากาศขันโตกแบบชาวเหนือ เนื่องจากคณะของเราเป็นคณะใหญ่ได้รับเกียรติให้รวมอยู่ในห้องวีไอพี (พิเศษ) ขณะอาหารเริ่มทยอยเข้าสู่โต๊ะ บนเวทีมีการเล่นดนตรีชาวเหนือ สะล้อซอซึง และนักร้องนำ ชวนเชิญและร้องด้วยสำเนียงชาวเหนือชัดเจน มีขบวนแห่ย่อยๆ เดินโปรยดอกไม้เข้าสู่เวที เรารับประทานอาหารไปฟังไปคุยกันไป จบท้ายด้วยการถ่ายภาพร่วมกันแล้วจากลาด้วยความประทับใจในความงามแบบชาวเหนือ คำพูด เพลง ดนตรีลีลาเต้นร่ำอ่อนช้อยน่าชม


ขากลับเราแวะชมตลาดแถวหอนาฬิกาและเดินเที่ยวชมในท์บาซ่า หลายคนซื้อผ้า สร้อยแหวนนาฬิกาของฝากเล็กๆ น้อยๆ กันจนเมื่อยจึงชวนกันกลับขึ้นรถเดินทางกลับไปพักผ่อนที่ลักษณวรรณรีสอร์ท ต่างหลับฝันถึงการท่องเที่ยวชมเชียงรายในวันรุ่งขึ้น

เช้าหลังมื้ออาหารเราขึ้นรถตู้ 5 คันออกเดินทางมุ่งหน้าสู่วัดถ้ำป่าอาชาทองเพื่อทำบุญตักบาตรกับพระขี่ม้า รถตู้แล่นตามกันไปจากถนนใหญ่เข้าถนนสายเล็กในชุมชนหลายชุมชน เห็นต้นหมากรากไม้เรียงรายสวยงามเงียบสงบ ข้ามสายน้ำเล็กหนึ่งสาย ก่อนรถแล่นเข้าสู่บริเวณวัด ที่แทรกอยู่ระหว่างภูเขา แมกไม้ใหญ่น้อยมากมาย หลาคนเตรียมอาหารกระป๋องของแห้งมาตั้งแต่เมื่อคืนตอนเดินเที่ยวตลาด หลายคนหาซื้อหาข้าวสารอาหารแห้งเอาบริเวรหน้าวัด แล้วขึ้นไปหน้าวัดเพื่อรอพระเดินทางกลับจากขี่ม้าบิณฑบาตจากที่ไกล

คณะของเราพร้อมด้วยคณะอื่นต่างเตรียมของใส่บาตรเข้าแถวยืนบ้างนั่งบ้างรอพระด้วยจิตใจเป็นกุศล เก้าโมงกว่าพระขี่ม้ากลับวัด ผ่านลานที่คณะของเรารออยู่ต่างถวายจตุปัจจัยไทยทานผ้าไตรจีวรข้าวสารอาหารแห้งเสร็จแล้วพระคุณเจ้ารูปหนึ่งทำหน้าที่อนุโมทนาบุญให้พร นำคณะของเรากรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลบุพชน เปตชนอย่างยาวนาน พร้อมกับการแนะนำหลักธรรมในการปฏิบัติ ตามแนวทางของหลวงปู่วัดปากน้ำ บวกกับแนวทางของหลวงปู่วัดท่าซุง คณาจารย์ทั้งสองมีศิษยานุศิษย์จำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ

พระเล่าให้ฟังว่า พระอาจารย์เจ้าอาวาสรวมปัจจัยไทยธรรมที่รับจากญาติโยมศรัทธาสาธุชนแล้วนำไปแจกจ่ายถวายวัดเล็กวัดน้อยตามชายแดนอีก 12 สาขา ที่แฝงตัวอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนสั่งสอนธรรมให้ความร่มเย็นดุจไม้ใหญ่ในไพรกว้าง ให้ความร่มเย็นแก่ส่ำสัตว์ เวลานอกจากนั้นหมดไปกับการเจริญสติสมาธิภาวนา

ขณะพระอาจารย์นั่งหลังม้าบิณฑบาตเสร็จแล้ววกกลับออกมาให้พร นำญาติโยมกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลคำนวณเวลากว่าชั่วโมง อาจเกิดความสงสัยได้ว่า ม้าจะให้ความร่วมมือกับพระหรือไม่ ม้าแสนรู้ทำหน้าที่ผู้ช่วยพระโดยไม่บอกเลย เพียงแค่มีศิษย์พระหนึ่งคน ถือถังเล็กใส่ข้าวโพดให้ม้ากินไปเรื่อยๆ ข้าวโพดไม่หมด ม้าไม่หนีแน่ เรียกว่าเป็นการแลกเปลี่ยนที่สมดุล พระสอนไป ม้ากินข้าวโพดไป กัดเสียงดังกร๊อบๆ ไม่หยุดปากเลย อิ่มบุญกันแล้วต่างชักชวนกันลงจากลานหน้าวัดไปที่จอดรถ


รวมพลกันที่วัดจนครบขึ้นรถตู้มุ่งหน้าสู่ดอยตุง เพื่อเยี่ยมเยือนบ้าน “สมเด็จย่า” ผู้เป็นที่รักของชาวไทย ความงามของพระตำหนักกลางดอยหนาวอยู่ในความทรงจำเนิ่นนานมา ครั้งเยือนดอยตุงหลายปีก่อน รถวิ่งขึ้นเขาบนเส้นทางแคบๆ รวดเร็วไม่น้อย จนผมนึกนิยมในฝีมือพลขับ ไม่ชำนาญทางอย่าริทำแบบนี้เด็ดขาด วนไปวนมาโค้งไปโค้งมาได้สักครู่ หลายคนเอนหลังพิงเบาะหลับตาลง ทำทีว่าง่วง ปกปิดอาการผะอืดผะอมที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นในความรู้สึก

แต่เหมือนฟ้าดินเป็นใจ เราถึงลานจอดรถบนดอยตุง ก่อนที่ใครจะตัดสินใจเสียสละอาหารมื้อเช้าที่บรรจุไว้เป็นเสบียงในท้อง รวมพลกันเสร็จเดินตามหลังมัคคุเทศก์ไปรอหน้าอาคารร้านค้า กลิ่นกาแฟลอยกรุ่นอยู่ในบรรยากาศยามสายจากร้านกาแฟใกล้เคียง หลายคนหมายตาว่า กลับออกมาจะแวะจิบกาแฟเสียหน่อย รับบัตรผ่านประตูทางเข้าแล้วนัดหมายเวลาชมรอบบริเวณดอยตุงแห่งนี้ชั่วโมงกว่า ต่างคนต่างเดินออกกำลังกายสู่พระตำหนัก แว่วเสียงหมีกินผึ้งเล็กน้อยพอเป็นพิธีของใครบางคนที่ไม่ค่อยสันทัดกิจกรรมทางขา

ส่วนผมเองรู้สึกขอบคุณกิจกรรมที่มักจะทำเป็นประจำคือออกเดินตอนหลังเลิกงาน ทำให้คุ้นชินการเดิน เหมือนว่าเป็นเพื่อนสนิทที่พบกันเป็นประจำ การเดินในระยะที่พอกับกำลังของแต่ละคนเป็นประจำ มีประโยชน์อย่างนี้เอง ทัศนคติต่อการเดินเปลี่ยนไปในด้านบวก เพราะเดินแล้วเพลินไม่เหนื่อยมากนัก อีกประการหนึ่ง การเดินไปคุยกันไป ถ่ายรูปไป มองดอกไม้พันธุ์ไม้หลากหลายช่วยบรรเทาความเหน็ดเหนื่อยได้ไม่น้อย

ยืนรวมตัวอยู่หน้าพระตำหนักดอยตุง “บ้านสมเด็จย่า” สักครู่ เมื่อพร้อมกันดีแล้ว รับเครื่องเสียงพร้อมหูฟังจากเจ้าหน้าที่ ฟังวิธีการใช้พร้อมขั้นตอนแล้วทดสอบฟังดู มีคำบรรยายจุดสำคัญต่างๆ ภายในพระตำหนักจำนวนมาก โดยใช้หมายเลขเป็นตัวกำกับ เดินถึงมุมใดตัวเลขใดเปิดฟังเสียงบรรยายได้ทันที โดยไม่ต้องรอผู้บรรยายคนใดมาช่วย เราก็รู้ได้เองอย่างแจ่มแจ้ง แต่เป็นที่น่าเสียดาย หลายคนเดินเร็วนำหน้าโดยฟังบ้างไม่ฟังบ้าง คนตามหลังเห็นท่าว่าจะไม่ทันเลยเร่งติดตามไป กลายเป็นว่าคณะของเราส่วนมากฟัง และชมไม่จบ มายืนฟังบรรยายโดยชมภาพทิวทัศน์ภายนอกประกอบการบรรยายแทนภาพด้านใน

ออกจากพระตำหนักรวมตัวกันถ่ายภาพหมู่ไว้เป็นที่ระลึกแล้วจึงเดินชมอาณาบริเวณอันร่มรื่น ดอกไม้ ต้นไม้ ภูเขา ทัศนียภาพสิ่งแวดล้อมตื่นตาเย็นใจกับธรรมชาติ สุนทรียภาพอันสวยงามสะท้อนกลับสู่ดวงใจ ชีวิตของคนหนึ่งคนจะมีโอกาสได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมอันสงบเช่นนี้บ้างหรือไม่ บางคนเกิดคำถามในใจว่า จะมีสักกี่ครั้งที่ได้เยี่ยมชมสถานที่อันซาบซึ้งใจเช่นนี้ เพราะชีวิตคร่ำเคร่งอยู่กับการเลี้ยงชีพตามวิถีอันสับสนซับซ้อนยิ่งขึ้นทุกที (โปรดติดตาม)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น