วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

หลวงพ่อหัวหน้าสำนักสงฆ์หินเทินหัวหิน

กค 2555
หลวงพ่อหัวหน้าสำนักสงฆ์เขาหินเทินหัวหิน พาเดินชมหลังวัดดูสระน้ำขนาดใหญ่ สระน้ำประปา และสระน้ำที่เกิดจากการขุดหินไปขาย






















หมอกระดูกและเส้นเอ็น

15 กค 2555 

ไปหาหมอกระดูก "นายไสว จันทร์เพชร" 


และเส้นเอ็นที่ปึกเตียน เพชรบุรี
ระยะทาง 54 กม. เนื่องจากคุณประไพ เปียสนิทมีอาการปวดกระดูก
หลังและคอมาอย่างยาวนาน จนรู้สึกว่าชาที่ปลายประสาท
คาดว่ามีอาการกระดูกทับเส้น พยายามหาหมอมาหลายทาง
แต่ยังไม่หาย วันอาทิตย์ ทำบุญที่วัดหินเทินหัวหิน จึงปรึกษา
หลวงพ่อเจ้าสำนักสงฆ์ ท่านแนะนำให้ไปหา "หมอไสว จันทร์เพชร
โดยมีโยมอู๊ด ผ้าขาวช่วยงานที่สำนักสงฆ์เคยไปมาก่อนแล้ว
จึงเกิดความสนใจ พากันไป จนพบ และทำการรักษาทันที


"ฉัตรชัย เปล่งพานิช" 
ดาราดัง มาขอรับการรักษาด้วย


บนฝาบ้าน เห็นภาพ "ฉัตรชัย เปล่งพานิช" ถ่ายกับคุณหมอไสว จึงสอบถามได้ความว่า ฉัตรชัยเป็นโรคกล้ามเนื้อเสื่อม ไปรักษามาหลายที่ แม้เดินทางไปต่างประเทศก็ยอม แต่ยังไม่หาย จึงเดินทางมารักษาที่นี่ ไม่นานนักหายจากอาการโรคดังกล่าว จึงถ่ายรูปคู่กับหมอไว้เป็นที่ระลึก





















ผลการประเมินเบื้องต้น ว่าภายหลังการรักษาดีขึ้นเล็กน้อย และหมอแนะให้เดินทางมารักษา ตามแต่คนไข้จะสะดวกอีกระยะหนึ่ง เพื่อสังเกตอาการ

วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2555

โรคตาเหล่ระบาด


โรคตาเหล่ระบาด


 


โรคระบาดไหลบ่าโรคตาเหล่

คนไทยเป๋เซซัดเดินขัดขวาง

ท่านประธานพาลบอกไปนอกทาง

คนเมาค้างอ้างว่าไม่น่าเมา


 


ฝ่ายการเมืองเรื่องยุ่งมุ่งทางผิด

เอาชีวิตประชามาแทนเหล้า

แล้วดื่มเงินงมงายอยู่ใต้เงา

ดื่มแล้วเผาศรัทธาเพื่อหากิน


 


ชาวบ้านเหล่เล่ห์กลถูกมนต์สั่ง

คอยความหวังเงินรัฐจัดถึงถิ่น

แม้ต้องแลกแยกฝ่ายในแผ่นดิน

คนโกงกินจึงแกล้งให้แย่งกัน


 


วิชาการนั่นเหล่ตาเหหก

แล้วหยิบยกแยบยลให้คนหยัน

แลกวิชาหากองของกำนัล

วิชามากปากมันนั้นมากมี


 


ราชการตาเหล่ใช้เล่ห์ช่วย

เอื้ออำนวยการเมืองเปลืองภาษี

หักหัวคิวตามน้ำตามวิธี

ประชาชีเห็นชั่งยังเฉยชา


 


เห็นการแก้การโกงโยงถึงแก่น

เป็นเรื่องแค่แก้แค้นหรือเข่นฆ่า

เป็นพวกตนตามแต่แค่เหล่ตา

จึงวอนว่าร่วมด้วยช่วยเหล่ที


วันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2555

29 กุมภาพันธ์ "วันพิเศษกับคนพิเศษ"


29 กุมภาพันธ์ 2555

“วันพิเศษ กับคนพิเศษ”

 


ยี่สิบเก้ากุมภาพันธ์ที่บันทึก

เพื่อรำลึกวันหวามแห่งความหวัง

แว่วกังวานหวานไหวในภวังค์

เสนาะดังกังสดาลอันแสนดี


 


เป็นวันเหนือวันไหนใจดวงหนึ่ง

เป็นวันซึ่งดอกไม้ได้แต้มสี

เป็นวันซึ้งถึงรสบทกวี

เสียงดนตรีซาบซ่านหวานจับใจ


 


เป็นวันที่สี่ปีมีหนึ่งครั้ง

ยังคอยฝังรอยฝันอันเคยใฝ่

ตาที่มองของคุณรอยอุ่นไอ

มีดวงไฟในแรงแห่งสายลม


 


แม้ดวงเทียนเปลี่ยนแปลงมีแสงฉาย

เปล่งประกายวอมแวมแซมผสม

ไฟแห่งรอยปรารถนาในอารมณ์

ไฟแห่งความชื่นชมยังฉายโชน


 


ร้านอาหารแห่งนี้คือที่เก่า

ที่สองเราเคยนั่งเมื่อครั้งโน่น

รักคือไฟฉายสุขให้ลุกโพลน

ตราบวันโน้นถึงวันนี้ที่เนิ่นนาน


 


“วันพิเศษ” เช่นนี้เธอที่รัก

ขอผ่อนพักกลางแดนอันแสนหวาน

อิงอุ่นไออ้อมกอดตลอดกาล

เป็นตำนานแห่งรักที่พักใจ


 

โสภณ เปียสนิท
บันทึกตามคำขอ : วันนี้อยากอ่านบทกวีงามๆ กับความพิเศษของวันที่ 29 กุมภาพันธ์ วันที่มีได้เพียงหนึ่งครั้งในรอบ 4 ปี
39/3 เขาพิทักษ์ หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ 77110

วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เสียงเด็กร้องไห้ข้างบ้าน


เสียงเด็กร้องไห้ข้างบ้าน

ในยามบ่ายปลายวันอันเงียบเหงา
ลมเบาเบาแกว่งไกวใบมะม่วง
พยับแดดเต้นเร่าเงาภาพลวง
ฝุ่นหล่นร่วงลงค้างบนหลังคา


แว่วเสียงเด็กร้องไห้ในบ้านร้าง
คำครวญครางมุ่งมาดปรารถนา
อยากเห็นแม่ทุกทีที่ลืมตา
ทุกเวลาอบอุ่นหนุนแขนนอน


อยากให้แม่อุ้มไว้เดินไปเที่ยว
ทุกทางเทียวแม่พาผ่านมาก่อน
ผ่านทุ่งท่าสายัณห์ตะวันรอน
แล้วจึงย้อนทางยาวกลับเย้าเรือน


อยากให้แม่กลับมาพาอาบน้ำ
ล้างรอยดำช้ำชอกฟอกรอยเปื้อน
ทาแป้งหอมย้อมใจไม่ลืมเลือน
แม่จึงเหมือนเพื่อนใจในความจำ


ฟังนิทานกล่อมนอนก่อนจะหลับ
เสียงเพลงขับคำขานอันคมขำ
ก่อนหลับผล็อยลอยอารมณ์ในคมคำ
เมื่อม่านดำราตรีเริ่มคลีคลุม


ในยามบ่ายปลายวันอันหม่นหมอง
เสียงร่ำร้องร่ำไรเหมือนไฟสุม
ไฟเหว่ว้าอารมณ์ยังโหมรุม
แม่ไม่อุ้มเพียงใดไม่หลับเลย



โสภณ เปียสนิท
39/3 เขาพิทักษ์ หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ 77110


ท่องเชียงรายในสามวัน (1)


ท่องเชียงรายในสามวัน
………………………….
          ปลายปี 2554 ควรบันทึกไว้ว่า 20 กว่าจังหวัดในประเทศไทย รวมถึงกรุงเทพฯ เกิดอุทกภัยใหญ่ ฝูงชนมากมายเดือดร้อนแสนสาหัส ชนิดไม่โดนเองไม่รู้ซึ้ง แม้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ศาลายา ยังอยู่ในภาวะเดียวกับชาวบ้านย่านพุทธมณฑล และปิดประกาศเลื่อนการเปิดการเรียนการสอนนานกว่า 2 เดือน วิทยาเขตวังไกลกังวล แม้น้ำท่วมไม่ถึง แต่เพื่อความสะดวกต่อการจัดการศึกษา ต้องเปิดการเรียนการสอนพร้อมกัน คณะบริหารธุรกิจวิทยาเขตวังไกลกังวล จึงถือโอกาสจัดการสัมมนาร่วมกับจังหวัดเชียงรายหัวข้อ “ประชาคมอาเชียน” เพื่อศึกษาความพร้อมของเขตชายแดนเชียงราย และการเดินทางเยี่ยม ประเทศเพื่อนบ้านที่สามเหลี่ยมทองคำประกอบการสัมมนา

                การเดินทางคราวนี้หรูหรานิดหน่อย  เพราะเดินทางไป-กลับโดยเครื่องบินนกแอร์ ย่นระยะเวลาการเดินทางจากราว 10 กว่าชั่วโมง เหลือแค่ 1 ชั่วโมง 10 นาที ต่อเที่ยว  อีกประการหนึ่ง การเดินทางโดยเครื่องบิน ไม่ว่าจะเป็นภายใน หรือ ภายนอกประเทศ เป็นประสบการณ์ที่ควรเก็บเกี่ยว เนื่องจากเป็นรูปแบบการเดินทางที่พัฒนามาถึงจุดสูง ณ ปัจจุบัน ถ้ามีปัจจัย (เงิน) เพียงพอ นอกจากนั้นเดินทางโดยรถบัสใหญ่ และรถตู้ตามสถานการณ์สถานที่อันเหมาะสม

                คณะของเราออกเดินทางจากวิทยาเขตฯ ราวตีสอง เพื่อให้ถึงสนามบินสุวรรณภูมิก่อนเวลา 8.00 น. แต่เราถึงสนามบินก่อนกำหนดเวลามาก จึงมีเวลานำกระเป๋าเข้าท้องเครื่องบิน เดินชมบริเวณ เข้าห้องน้ำ รับประทานอาหารเช้าราคาหรูสมกับสถานที่ เดินชมร้านค้าภายในจนพอใจแล้วต่างทยอยเข้าสู่ห้องผู้โดยสาร น้องกาญจน์พลัดหลงผู้ปกครองเดินตามหมู่คณะ โดยที่ไม่มีบัตรผู้โดยสาร จึงถูกเรียกให้นั่งรอ ความรู้สึกของเด็กวัย 12 ปี ขณะมองเพื่อนๆ และหมู่คณะเดินเข้าห้องผู้โดยสารต่อหน้าต่อตา จึงเหมือนขาดความอบอุ่นมั่นคงเกิดความหวาดกลัวว่าจะผิดพลาดจนไม่อาจเดินทางไปได้ น้ำตาเจ้ากรรมพาลไหลเอ่อท้นขอบตาหยดลงบนพื้นสนามบินสุวรรณภูมิจนได้ ร้อนถึงญาติมิตรต้องโทรหาบิดรมารดามารับผิดชอบ ขณะที่พ่อแม่แยกย้ายใช้เวลาเกือบสองชั่วโมงที่เหลือล้างหน้าเข้าห้องน้ำอย่างสบายอารมณ์


                 ถึงเวลา 8.00 น. (เศษ) เครื่องบินค่อยๆคลานออกจากลานจอดเข้าสู่รันเวย์ ตั้งตรงตามทิศทางแล้ววิ่งเร็วขึ้นจนถึงระดับแล้วยกตัวขึ้นสู่น่านฟ้า ไต่ระดับสูงขึ้น ยามเครื่องบินตะแคงเลี้ยวผมเล็งกล้องเก็บภาพผ่านปีกเครื่องบินสู่เบื้องล่าง เห็นพื้นดินทอดแนวยาวริบหรี่รำไร และเกือบครึ่งเป็นพื้นน้ำปกคลุมอาณาบริเวณกว้างไกลไม่น้อย จนเครื่องบินยกระดับสูงกว่าเมฆ จึงมองไม่เห็นพื้นดินอันไพศาลจนกว่าจะอีกชั่วโมงสิบนาทีต่อมา เครื่องบินลดระดับลงจนล้อแตะรันเวย์ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง แล้วค่อยๆ วิ่งเข้าเทียบงวงช้างในที่สุด

                เรารอรับกระเป๋าเดินทางจากสายพานแล้วเดินทางขึ้นรถบัสใหญ่ที่บริษัทมัคคุเทศก์จัดไว้รออยู่ก่อนแล้ว ออกเดินทางเข้าเยี่ยมชมวัดร่องขุ่น “วัดขาว” ภายใต้การบูรณปฏิสังขรณ์ของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ผู้มุ่งมั่นอุทิศบุญกิริยาครั้งนี้ให้เป็นศาสนสถานประจำรัชกาลที่ 9 เพิ่มจำนวนพื้นดินของวัดเป็น 9 ไร่เศษ ก่อสร้างอาคารเพื่อประกอบศาสนกิจให้ครบ 9 หลัง ตั้งเป้าหมายให้สำเร็จใช้งานในกิจการของสงฆ์ได้ก่อน ส่วนการตกแต่งประดับประดาพุทธศิลปะอันอ่อนช้อยวิจิตรบรรจงสวยงามตระการตาที่เหลือ ท่านอาจารย์วางแผนสอนศิษย์ไว้อีกสองรุ่น คือรุ่นใหญ่อายุ 22 ปีขึ้นไป ไว้สืบทอดต่อจากรุ่นปัจจุบัน ส่วนอีกรุ่นเป็นรุ่นเล็ก อายุ 12 ปีขึ้นไป เตรียมการไว้เพื่อรองรับการสืบทอดเจตนารมณ์ของรุ่นใหญ่อีกทอดหนึ่งจนกว่างานจะแล้วเสร็จ

                คณะของเราแยกย้ายถ่ายรูปทำบุญไหว้พระ หลายรายได้โอกาสถ่ายรูปร่วมกับท่านอาจารย์เฉลิมชัย ที่เมตตามาถ่ายรูปด้วย เป็นที่ระลึก ผมเองเดินชมไปด้วย ถ่ายรูปไปด้วย ทำบุญไปด้วย และโชคดีท่านอาจารย์เมตตาสละเวลาถ่ายรูปด้วย จึงขอถือโอกาสนี้กล่าวคำขอบคุณไว้ ณ ตรงนี้

                เกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า คนคนหนึ่งประสบความสำเร็จในการวาดรูปอย่างมากมาย มีรายได้มากจนกินใช้อย่างเศรษฐีก็ยังไม่หมดในชีวิตนี้ เขามีทุกอย่างที่มนุษย์ผู้มั่งคั่งมี พรั่งพร้อมชื่อเสียงเกียรติยศทรัพย์สินเงินทอง แต่เขายอมสละละวางชื่อเสียง เพื่อมากินนอนอยู่ในวัดเหมือนศิษย์วัดคนหนึ่งจะพึงทำ นอนหัวค่ำราวสองสามทุ่ม ตื่นแต่เช้าตรู่ตีสองตีสามเพื่อมาเดินรอบวัดกำหนดจิตฝึกสติสมาธิเพื่อให้เกิดปัญญาตามหลักการแห่งพระศาสนา จนกว่าจะรุ่งเช้า รับประทานอาหารเช้าร่วมกับศิษย์วัดคนอื่นๆ และทำงานให้แก่วัดตามตารางเวลา ชีวิตอันโรจน์รุ่งกลับต้องมาวนเวียนอยู่อย่างนี้วันแล้ววันเล่า ทรัพย์สินจำนวนมากทุ่มเทเพื่อการสร้างวัดไป นี่คือชีวิตของคนมีชื่อเสียงเกียรติยศกระนั้นหรือ “เขาทำอย่างนี้เพื่อสิ่งใด”


                เขาหวัง “พระนิพพาน” อันเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระศาสนาในชีวิตนี้กระนั้นหรือ หรือว่า เขาหวัง “พระโพธิญาณ” บำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์ผู้ต้องการนำสรรพชีวิตข้ามพ้นโอฆะสังสารวัฏอันยืดยาววนเวียนไม่สิ้นสุด เป้าหมายอื่นเป็นอันว่าเล็กน้อยเกินไปสำหรับบุญยิ่งใหญ่ที่ได้กระทำลงไปแล้วและมุ่งมั่นกระทำต่อไป ผู้เสียสละขนาดนี้ และมีความมุ่งหวังอันเลิศถึงปานนี้ ในใจของผมคิดว่าสมควรได้รับการยกย่องว่าเป็น “มหาบุรุษ” มีค่าควรแก่การยกย่องให้เป็นต้นแบบของสาธุชนตลอดไป

                เวลาล่วงเลยกำหนดหมายเล็กน้อยเรามุ่งหน้าสู่ร้านข้าวซอยกลางเมืองเชียงราย หลายคนลองลิ้มชิมรสข้าวซอยขนานแท้เป็นครั้งแรก อิ่มอร่อยจนพอใจแล้ว เรามุ่งหน้าใฝ่หากุศลที่วัดพระแก้วเชียงราย เป็นครั้งแรกที่ผมรู้ว่า เชียงรายมีพระแก้วเป็นของตนเอง มีประวัติความเป็นมายาวนาน เราเดินขึ้นบันไดพญานาคเข้าสู่พระอุโบสถมองช่อฟ้าหน้าบันคันทวยใบระกาหางหงส์ลวดลายสีทองวิจิตรตระการตา ต่างก้มกราบพระประธานในพระอุโบสถ ด้วยดวงจิตอันเป็นกุศล ฟังประวัติหลวงพ่อ และประวัติของวัด เสร็จแล้วลาพระประธานเดินออกจากโบสถ์เลี้ยวซ้ายเข้าสู่พระวิหารพระแก้วเพื่อกราบชื่นชมบารมี

                เราอ้อยอิ่งถ่ายรูปสนทนาหาความรู้อยู่บริเวณด้านหน้าพระวิหารพระแก้วเชียงรายต่ออีกนิดหน่อย เห็นพระพระทองเหลืองปางนาคปรกเหลืองอร่ามสวยงามตั้งอยู่หน้าพระวิหาร อีกด้านมีต้นไผ่สีทองสวยงามเรียงรายเป็นระเบียบน่านำสายพันธุ์มาปลูก ระหว่างโบสถ์และวิหารพระแก้วมีพระเจดีย์สีทองภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุสะท้อนแดดบ่ายวิบวับสวยงามจับตาไว้ให้สาธุชนผู้ศรัทธากราบไหว้บูชารำลึกถึงองค์พระศาสดา

                ล่วงเลยเวลานัดหมายเล็กน้อยคณะของเราเดินทางมุ่งหน้าสู่บ้านถวัลย์ ดัชนี มหาศิลปินชาวเชียงรายผู้ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า “วัดดำ” ทั้งที่ยังเป็นบ้าน แต่ว่ามีรูปลักษณ์ภายนอกคล้ายวัดโทนสีของอาคารสถานที่เน้นเทาดำ รถวิ่งบนถนนใหญ่ไม่นานแล้วลดเลี้ยวเข้าถนนเล็ก แล้วจอดห่างจากบ้านเป้าหมายเกิน 300 เมตร คณะของเราจำเป็นต้องเดินเท้าเข้าถนนเล็กในหมู่บ้าน หลายคนไม่คุ้นเคยกับการเดินเท้า จึงเริ่มมีเสียงหมีกินผึ้งแว่วๆ มาตามทาง (โปรดติดตามตอนต่อไป)

ท่องเชียงรายในสามวัน(2)
………………………….

            เราเดินผ่านถนนในหมู่บ้านเล็กๆ ไม่นานนักถึงบ้านถวัลย์ ดัชนี มหาศิลปินแห่งยุคสมัย มองตรงเข้าด้านใน เห็นป้ายชื่อเจ้าของเรือนตกแต่งสวยงาม ซ้ายมือแหงนมองเรือนหลังใหญ่คล้ายมหาวิหาร หรือ พระอุโบสถของวัดใดวันหนึ่ง สีดำทำด้วยไม้เป็นหลัก ปลายเรือนยอดแหลมสูงเสียดฟ้า เสาใหญ่ภายนอกตัวเรือนเรียงรายตามแนวยาวนับได้เกิน 10 เสา แนวกว้าง 4 เสา ขอบประตู บานประตูขนาดใหญ่ แกะสลักลวดลายไทยละเอียดยิบสวยงามเกินบรรยาย หลายคนเดินผ่านเข้าสู่ด้านในอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันได้สังเกตเห็นความสวยงามจากภายนอก

ภายในบรรจุงานศิลปะผสมผสานหลายแบบ เสาภายในเรือนแกะสลักลวดลายทุกต้น หลายคนแยกย้ายกันถ่ายรูปตามจุดต่างตามใจปรารถนา เดินชมหนังงูเหลือมขนาดใหญ่วางแผ่หลายแผ่นอยู่บนโต๊ะคาดว่าอาจารย์ถวัลย์มองเห็นความงามบนแผ่นหนังของงูคล้ายตกแต่งด้วยมือของศิลปินชั้นเยี่ยม จึงนำมาไว้ให้ชมกัน มีภาพวาดสวยงามเชิงนามธรรมจำนวนมากไว้ให้ขบคิดพิจารณาวางไว้ตามจุดต่างๆ รอบเรือน พบพระพุทธรูปหินอ่อนสีขาวนวลอ่อนช้อยสวยงามวิจิตรน่าชมตั้งกลางเรือน เปลือกหอยขนาดใหญ่ เขาสัตว์ เช่นเขาควายจัดแต่งเหมือนเก้าอี้ เหมือนเคยเห็นอาจารย์ถวัลย์ เคยนั่งถ่ายภาพบนโต๊ะแบบนี้ แต่ผมเองไม่กล้านั่งกลัวบารมีอาจารย์ และกลัวหักพัง

กว่าจะผ่านเรือนโอฬารและศิลปะอันหลากหลายออกมาได้ เราใช้เวลายาวนานเป็นพิเศษ มองจากด้านหลังเรือนใหญ่หลังนี้เห็นงานศิลปะอื่นอีกจำนวนมาก บนเนื้อที่คำนวณเคร่าๆ ราว 7 ไร่ เป็นการคำนวณเอาตามสายตานะครับ ส่วนใหญ่เป็นสีดำ แต่แอบเห็นศิลปกรรมขนาดเล็กอยู่บ้างเหมือนกันที่เป็นสีขาว

ด้านขวาของเรือนหลังนี้มีเรือนไม้ขนาดย่อม แต่แปลกตาที่ต้นเสาแต่ละต้นใหญ่เกินความจำเป็น อาจเป็นความนิยมของชาวเหนือที่มักสร้างเรือนด้วยเสาไม้ขนาดใหญ่แสดงฐานะร่ำรวยมั่นคง นับตามแนวยาวได้ราว 6 เสา เป็นที่รวบรวมของใช้สมัยเก่า มองเห็นหัวควาย เรือยาว กลองหนังขนาดใหญ่ ลำรางคล้ายเรือ แกะจากไม้ทั้งต้น ตัดหัวตัดท้าย ไม่รู้ว่าเป็นเรือตามที่คิดหรือไม่


เดินชมเรือนรับรองบริวารต่อมาเห็นเรือนยอดแหลมอื่นๆ อีกหลายแห่ง แต่ว่าเรือนเหล่านี้เกือบทุกหลังมองไม่เห็นคนพักอาศัยอยู่บนเรือน นอกจากเรือนด้านในสุดของพื้นที่ พบคนพักอาศัยอยู่บ้าง สอบถามถึงอาจารย์ถวัลย์ว่า ท่านอยู่บ้านหรือไม่ หญิงวัยกลางคนตอบว่า “อยู่ อาจารย์พักผ่อน นัดไว้หรือเปล่าค่ะ” “เปล่าครับ” รีบตอบเพราะความเกรงใจ เนื่องจากพอรู้บ้างว่า อาจารย์ เป็นผู้มีนิสัยรักสงบชอบเก็บตัวอยู่เงียบๆ มากกว่าการสนทนากับชนทั่วไป

พบฝรั่งสองคนสามีภรรยาเดินชมอยู่จึงถือโอกาสฝึกภาษาอังกฤษด้วยการทักทายชวนสนทนา ได้ข้อมูลว่าสองคนเดินทางมาจากประเทศยูเครน ภรรยาชอบศิลปะในด้านการวาดรูป  ส่วนสามีทำงานด้านคอมพิวเตอร์ ภรรยายกย่องชมเชยงานของอาจารย์ถวัลย์ว่าเป็นยอดของศิลปะ แถมฝากให้ช่วยบอกเจ้าของด้วย ผมได้แต่รับคำแบบเลี่ยงๆ ว่า “จะบอกให้ครับ ถ้าได้พบนะ” เธอยิ้มด้วยความยินดี

เดินกลับออกมาทางด้านขวาของเรือนศิลป์หลังใหญ่ พบเพื่อนพ้องเกือบทั้งหมดมานั่งรวมกันพักผ่อน รอเดินทางกลับพร้อมกัน ตอนเที่ยวกลับมัคคุเทสก์เดินนำกลับทางลัด ทำหลายคนพึงพอใจ เพราะไม่ต้องเดินไกลจนเกินไป ขึ้นรถบัสได้ต่างคนต่างเอนหลังพิงพนังเบาะหลับตาลงพักผ่อนแก่เหนื่อย

ถึงที่พักหลายคนถือโอกาสนอนชั่วครูรอเวลารับประทานอาหารค่ำ ถึงเวลานัดหมายเราพร้อมกันที่ล็อบบี้เพื่อเดินทางสู่ร้านอาหาร “คุ้มสบันงา” เป็นร้านอาหารบรรยากาศขันโตกแบบชาวเหนือ เนื่องจากคณะของเราเป็นคณะใหญ่ได้รับเกียรติให้รวมอยู่ในห้องวีไอพี (พิเศษ) ขณะอาหารเริ่มทยอยเข้าสู่โต๊ะ บนเวทีมีการเล่นดนตรีชาวเหนือ สะล้อซอซึง และนักร้องนำ ชวนเชิญและร้องด้วยสำเนียงชาวเหนือชัดเจน มีขบวนแห่ย่อยๆ เดินโปรยดอกไม้เข้าสู่เวที เรารับประทานอาหารไปฟังไปคุยกันไป จบท้ายด้วยการถ่ายภาพร่วมกันแล้วจากลาด้วยความประทับใจในความงามแบบชาวเหนือ คำพูด เพลง ดนตรีลีลาเต้นร่ำอ่อนช้อยน่าชม


ขากลับเราแวะชมตลาดแถวหอนาฬิกาและเดินเที่ยวชมในท์บาซ่า หลายคนซื้อผ้า สร้อยแหวนนาฬิกาของฝากเล็กๆ น้อยๆ กันจนเมื่อยจึงชวนกันกลับขึ้นรถเดินทางกลับไปพักผ่อนที่ลักษณวรรณรีสอร์ท ต่างหลับฝันถึงการท่องเที่ยวชมเชียงรายในวันรุ่งขึ้น

เช้าหลังมื้ออาหารเราขึ้นรถตู้ 5 คันออกเดินทางมุ่งหน้าสู่วัดถ้ำป่าอาชาทองเพื่อทำบุญตักบาตรกับพระขี่ม้า รถตู้แล่นตามกันไปจากถนนใหญ่เข้าถนนสายเล็กในชุมชนหลายชุมชน เห็นต้นหมากรากไม้เรียงรายสวยงามเงียบสงบ ข้ามสายน้ำเล็กหนึ่งสาย ก่อนรถแล่นเข้าสู่บริเวณวัด ที่แทรกอยู่ระหว่างภูเขา แมกไม้ใหญ่น้อยมากมาย หลาคนเตรียมอาหารกระป๋องของแห้งมาตั้งแต่เมื่อคืนตอนเดินเที่ยวตลาด หลายคนหาซื้อหาข้าวสารอาหารแห้งเอาบริเวรหน้าวัด แล้วขึ้นไปหน้าวัดเพื่อรอพระเดินทางกลับจากขี่ม้าบิณฑบาตจากที่ไกล

คณะของเราพร้อมด้วยคณะอื่นต่างเตรียมของใส่บาตรเข้าแถวยืนบ้างนั่งบ้างรอพระด้วยจิตใจเป็นกุศล เก้าโมงกว่าพระขี่ม้ากลับวัด ผ่านลานที่คณะของเรารออยู่ต่างถวายจตุปัจจัยไทยทานผ้าไตรจีวรข้าวสารอาหารแห้งเสร็จแล้วพระคุณเจ้ารูปหนึ่งทำหน้าที่อนุโมทนาบุญให้พร นำคณะของเรากรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลบุพชน เปตชนอย่างยาวนาน พร้อมกับการแนะนำหลักธรรมในการปฏิบัติ ตามแนวทางของหลวงปู่วัดปากน้ำ บวกกับแนวทางของหลวงปู่วัดท่าซุง คณาจารย์ทั้งสองมีศิษยานุศิษย์จำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ

พระเล่าให้ฟังว่า พระอาจารย์เจ้าอาวาสรวมปัจจัยไทยธรรมที่รับจากญาติโยมศรัทธาสาธุชนแล้วนำไปแจกจ่ายถวายวัดเล็กวัดน้อยตามชายแดนอีก 12 สาขา ที่แฝงตัวอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนสั่งสอนธรรมให้ความร่มเย็นดุจไม้ใหญ่ในไพรกว้าง ให้ความร่มเย็นแก่ส่ำสัตว์ เวลานอกจากนั้นหมดไปกับการเจริญสติสมาธิภาวนา

ขณะพระอาจารย์นั่งหลังม้าบิณฑบาตเสร็จแล้ววกกลับออกมาให้พร นำญาติโยมกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลคำนวณเวลากว่าชั่วโมง อาจเกิดความสงสัยได้ว่า ม้าจะให้ความร่วมมือกับพระหรือไม่ ม้าแสนรู้ทำหน้าที่ผู้ช่วยพระโดยไม่บอกเลย เพียงแค่มีศิษย์พระหนึ่งคน ถือถังเล็กใส่ข้าวโพดให้ม้ากินไปเรื่อยๆ ข้าวโพดไม่หมด ม้าไม่หนีแน่ เรียกว่าเป็นการแลกเปลี่ยนที่สมดุล พระสอนไป ม้ากินข้าวโพดไป กัดเสียงดังกร๊อบๆ ไม่หยุดปากเลย อิ่มบุญกันแล้วต่างชักชวนกันลงจากลานหน้าวัดไปที่จอดรถ


รวมพลกันที่วัดจนครบขึ้นรถตู้มุ่งหน้าสู่ดอยตุง เพื่อเยี่ยมเยือนบ้าน “สมเด็จย่า” ผู้เป็นที่รักของชาวไทย ความงามของพระตำหนักกลางดอยหนาวอยู่ในความทรงจำเนิ่นนานมา ครั้งเยือนดอยตุงหลายปีก่อน รถวิ่งขึ้นเขาบนเส้นทางแคบๆ รวดเร็วไม่น้อย จนผมนึกนิยมในฝีมือพลขับ ไม่ชำนาญทางอย่าริทำแบบนี้เด็ดขาด วนไปวนมาโค้งไปโค้งมาได้สักครู่ หลายคนเอนหลังพิงเบาะหลับตาลง ทำทีว่าง่วง ปกปิดอาการผะอืดผะอมที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นในความรู้สึก

แต่เหมือนฟ้าดินเป็นใจ เราถึงลานจอดรถบนดอยตุง ก่อนที่ใครจะตัดสินใจเสียสละอาหารมื้อเช้าที่บรรจุไว้เป็นเสบียงในท้อง รวมพลกันเสร็จเดินตามหลังมัคคุเทศก์ไปรอหน้าอาคารร้านค้า กลิ่นกาแฟลอยกรุ่นอยู่ในบรรยากาศยามสายจากร้านกาแฟใกล้เคียง หลายคนหมายตาว่า กลับออกมาจะแวะจิบกาแฟเสียหน่อย รับบัตรผ่านประตูทางเข้าแล้วนัดหมายเวลาชมรอบบริเวณดอยตุงแห่งนี้ชั่วโมงกว่า ต่างคนต่างเดินออกกำลังกายสู่พระตำหนัก แว่วเสียงหมีกินผึ้งเล็กน้อยพอเป็นพิธีของใครบางคนที่ไม่ค่อยสันทัดกิจกรรมทางขา

ส่วนผมเองรู้สึกขอบคุณกิจกรรมที่มักจะทำเป็นประจำคือออกเดินตอนหลังเลิกงาน ทำให้คุ้นชินการเดิน เหมือนว่าเป็นเพื่อนสนิทที่พบกันเป็นประจำ การเดินในระยะที่พอกับกำลังของแต่ละคนเป็นประจำ มีประโยชน์อย่างนี้เอง ทัศนคติต่อการเดินเปลี่ยนไปในด้านบวก เพราะเดินแล้วเพลินไม่เหนื่อยมากนัก อีกประการหนึ่ง การเดินไปคุยกันไป ถ่ายรูปไป มองดอกไม้พันธุ์ไม้หลากหลายช่วยบรรเทาความเหน็ดเหนื่อยได้ไม่น้อย

ยืนรวมตัวอยู่หน้าพระตำหนักดอยตุง “บ้านสมเด็จย่า” สักครู่ เมื่อพร้อมกันดีแล้ว รับเครื่องเสียงพร้อมหูฟังจากเจ้าหน้าที่ ฟังวิธีการใช้พร้อมขั้นตอนแล้วทดสอบฟังดู มีคำบรรยายจุดสำคัญต่างๆ ภายในพระตำหนักจำนวนมาก โดยใช้หมายเลขเป็นตัวกำกับ เดินถึงมุมใดตัวเลขใดเปิดฟังเสียงบรรยายได้ทันที โดยไม่ต้องรอผู้บรรยายคนใดมาช่วย เราก็รู้ได้เองอย่างแจ่มแจ้ง แต่เป็นที่น่าเสียดาย หลายคนเดินเร็วนำหน้าโดยฟังบ้างไม่ฟังบ้าง คนตามหลังเห็นท่าว่าจะไม่ทันเลยเร่งติดตามไป กลายเป็นว่าคณะของเราส่วนมากฟัง และชมไม่จบ มายืนฟังบรรยายโดยชมภาพทิวทัศน์ภายนอกประกอบการบรรยายแทนภาพด้านใน

ออกจากพระตำหนักรวมตัวกันถ่ายภาพหมู่ไว้เป็นที่ระลึกแล้วจึงเดินชมอาณาบริเวณอันร่มรื่น ดอกไม้ ต้นไม้ ภูเขา ทัศนียภาพสิ่งแวดล้อมตื่นตาเย็นใจกับธรรมชาติ สุนทรียภาพอันสวยงามสะท้อนกลับสู่ดวงใจ ชีวิตของคนหนึ่งคนจะมีโอกาสได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมอันสงบเช่นนี้บ้างหรือไม่ บางคนเกิดคำถามในใจว่า จะมีสักกี่ครั้งที่ได้เยี่ยมชมสถานที่อันซาบซึ้งใจเช่นนี้ เพราะชีวิตคร่ำเคร่งอยู่กับการเลี้ยงชีพตามวิถีอันสับสนซับซ้อนยิ่งขึ้นทุกที (โปรดติดตาม)